THE JOURNEY OF COFFEE

Last updated: 25 มิ.ย. 2566  |  236 จำนวนผู้เข้าชม  | 

THE JOURNEY OF COFFEE

 

THE JOURNEY OF COFFEE

เครื่องดื่มทางศาสนา สู่สินค้าที่มีมูลค่าอันดับสองของโลก

 

     ถ้าจะพูดถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกาแฟ เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคน หรือเหล่าคอกาแฟคงพอทราบที่มาที่ไปกันมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะตำนานที่เล่ากันมาแบบปากต่อปากจากรุ่นสู่รุ่น จากอดีตจนถึงปัจจุบัน “แพะเต้นรำ” ซึ่งเป็นเรื่องของเด็กเลี้ยงแพะชาวอาบิสซีเนีย (ประเทศเอธิโอเปียในปัจจุบัน) ชื่อคาลดี ในศตวรรษที่ 9 ที่ค้นพบกาแฟจากหลังการได้เห็นแพะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นจากการได้กินผลเชอร์รีสีแดง หรืออีกหนึ่งตำนานเรื่องของบุรุษชื่อโอมาร์ที่ถูกเนรเทศออกจากเมืองโมชา ได้ค้นพบและกินกาแฟเป็นอาหารจนสามารถรอดชีวิตกลับมาที่เมืองได้ ซึ่งหลักฐานตำนานส่วนใหญ่ที่ถูกยืนยันนั้น มักจะกล่าวถึงถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเอธิโอเปียเป็นหลักครับ แต่ในช่วงเวลานั้นต้นกาแฟส่วนมากมักไม่ได้รับความสนใจ จนกระทั่งชาวอาหรับในเยเมนได้รับเอากาแฟเหล่านั้นไปเผยแพร่ในดินแดนอาระเบีย

     เมื่อกาแฟได้ถูกนำไปเผยแพร่ในดินแดนอาระเบีย ซึ่งเยเมนถือเป็นดินแดนแห่งแรกเลยก็ว่าได้ครับที่ตอบรับการมาถึงของกาแฟ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ถึงต้นศตวรรษที่ 15 ก่อนที่กาแฟจะกลายเป็นเครื่องดื่มในหมู่ประชาชนทั่วไป กาแฟส่วนใหญ่เป็นของรับประทานทางศาสนาของกลุ่มผู้นับถือนิกายซูฟี โดยการเคี้ยวเมล็ดกาแฟ เพื่อไม่ให้เกิดความง่วงในระหว่างการดำเนินพิธีกรรมทางศาสนาในช่วงกลางคืน นอกจากนี้ใบกาแฟและผลเชอร์รีที่อุดมไปด้วยคาเฟอีนยังถูกนำมาต้มด้วย เพราะมีความเชื่อว่าเป็นยาเสริมความสามารถในการเข้าถึงพระเจ้า โดยใช้ชื่อเรียกว่า “Quishr” หรือ “ไวน์อาหรับ”

     แน่นอนครับว่ากาแฟเป็นพืชป่าในดินแดนเอธิโอเปียที่ชาวอาหรับต้องการมากขึ้น ทำให้ชาวอาหรับเยเมนนำกาแฟมาปลูกบริเวณเทือกเขาทางตอนเหนือของเยเมน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวยังเหมาะสมต่อการปลูกกาแฟด้วยครับ กาแฟที่มีถิ่นกำเนิดมาจากแอฟริกานี้จึงได้ชื่อว่า “อาราบิกา” การที่กาแฟได้ถูกนำมาปลูกในเยเมนนี้ส่งผลให้เมืองท่ามอคคา (Mocha) สามารถผูกขาดการขายกาแฟได้เป็นเวลานานกว่า 2 ศตวรรษ ก่อนจะสูญเสียการผูกขาดให้แก่ชาติยุโรป

     ประมาณปี ค.ศ. 1500 กาแฟได้แพร่กระจายไปทั่วทั้งคาบสมุทรอาระเบียพร้อมกับผู้นับถือนิกายซูฟี ทั้งในไคโร ดามัสกัส และเมกกะ ซึ่งผู้ที่ดื่มกาแฟส่วนใหญ่ยังคงจำกัดอยู่ในหมู่ผู้นับถือนิกายนี้ที่มักจะรวมตัวกันดื่มบริเวณศาสนสถานหรือลานกว้าง อีกทั้งในปีนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกาแฟที่เราดื่มกันอยู่ในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ครับ เพราะชาวอาหรับได้เริ่มคั่วกาแฟและบดเมล็ดกาแฟกันแล้ว จากนั้นก็กระจายตัวไปยังตุรกี อียิปต์ และแอฟริกาเหนือ

     มาพูดถึงการแพร่กระจายของต้นกาแฟกันบ้างครับ หลังจากได้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการดื่มกาแฟกันไปแล้ว หลายคนคงสงสัยเหมือนนายแมนครับว่า จากเอธิโอเปียกระจายไปเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกกันทั่วโลกได้อย่างไร? ต้องบอกก่อนนะครับว่าสมัยกว่าพันปีที่แล้วคงไม่มีการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์แล้วจัดส่งกันข้ามประเทศอย่างสมัยนี้ (ฮ่าๆ)

     ชาวเยเมน (อาหรับ) เป็นคนแรกที่ค้าขายกาแฟ และผูกขาดจนไม่มีใครสามารถนำไปปลูกได้ โดยการส่งแต่เมล็ดกาแฟคั่วออกนอกดินแดนเท่านั้น จนในปีค.ศ. 1600 ผู้ที่นับถือนิกายซูฟีคนหนึ่งได้ลักลอบนำเมล็ดพันธุ์จากเยเมนไปยังอินเดีย และต่อมาพ่อค้าชาวดัตช์ก็ได้ลักลอบนำต้นกล้าจากเยเมนไปปลูกในอัมสเตอร์ดัม หลังจากนั้นในปีค.ศ. 1700 กาแฟถูกปลูกในอาณานิคมของเนเธอแลนด์ และทั่วอินโดนีเซีย อีกทั้งชาวดัตช์ยังได้มอบกล้ากาแฟเป็นของขวัญให้กับชาวฝรั่งเศส ซึ่งนำไปที่เฮติ (Haiti), เกาะมาร์ตีนิก (Martinique), และเฟรนช์เกียนา (French Guiana) ชาวดัตช์ได้ปลูกกาแฟในซูรินาม (สาธารณรัฐซูรินาม เดิมรู้จักกันในชื่อ ดัตช์กีอานา เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้) จากนั้นชาวอังกฤษก็นำกาแฟมาจากเฮติไปที่จาไมกา (Jamaica)

     ในปีค.ศ. 1727 กาแฟจากอเมริกาใต้และแคริบเบียนก็ได้แพร่กระจายไปยังอเมริกากลางและเม็กซิโกครับ จนในช่วงปลายปีค.ศ. 1800 ต้นกล้ากาแฟก็ถูกส่งกลับไปยังแอฟริกา และแพร่กระจายไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ของโลก โดยเฉพาะทวีปเอเชียครับ

     นายแมนขอสรุปจบเรื่องราวการเดินทางของกาแฟแบบนี้ครับว่า จากการเป็นเครื่องดื่มโดยมีความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง และจำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีความเชื่อทางศาสนาในแบบเดียวกัน ซึ่งกาแฟถูกปลูกในเยเมนเป็นที่แรก และถูกผูกขาดการส่งออกโดยมอคค่าเมืองท่าเรือในทะเลแดงทางชายฝั่งของเยเมนกว่า 200 ปี จนในปีค.ศ. 1600 มีผู้บุกเบิกได้ลักลอบเมล็ดพันธุ์จากเยเมนไปยังอินเดียครับ หลักจากนั้นกาแฟก็ถูกนำไปยังเนเธอแลนด์ อินโดนีเซีย และฝรั่งเศส ต่อมาในปีค.ศ. 1727 กาแฟก็ถูกแพร่กระจายไปยังอเมริกากลางและเม็กซิโก และถูกส่งกลับไปยังแอฟริกาในปลายปีค.ศ. 1800 นั่นเองครับ

     ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแล้วครับว่า ตำนานของกาแฟที่เกิดจากการถูกพบโดยบังเอิญของเด็กเลี้ยงแพะในวันนั้น จะกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจที่มูลค่าสูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากน้ำมันได้ในวันนี้ กาแฟยังต้องใช้เวลาสำหรับการเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลกเลยครับ นายแมนก็คงต้องใช้เวลาสำหรับการเรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ ของกาแฟเหมือนกันครับ เพื่อส่งมอบประสบการณ์การดื่มกาแฟที่ดีที่สุดให้กับเพื่อน ๆ ให้สมกับการเป็น JourneyMan

ประสบการณ์ที่ "ใช่" ในกาแฟที่ "ชอบ"

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้